ข่าว
วิสัยทัศน์
ประวัติ โรงเรียน
สหกรณ์โรงเรียน








     
  มุสลิมที่ไม่สนใจทำละหมาดคือคนที่ไร้ราคา

ท่านพี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย ไม่มีความต่ำต้อย ไม่มีความด้อยในอำนาจวาสนาสำหรับมุสลิมที่มีศรัทธา มีความยำเกรง และยึดมั่นอยู่ในการทำละหมาดเป็นกิจวัตร ถึงแม้เราจะยากจน ไร้ชื่อเสียง ขาดคนยกย่องเทิดทูน นั่นเป็นเรื่องของมนุษย์ ที่เขายกย่องเคารพบูชาคนที่ร่ำรวยมีอำนาจวาสนา แต่องค์พระผู้อภิบาลทรงยกย่องให้เกียรติ และทรงเมตตาโปรดปราณแก่มุสลิมที่มีศรัทธายึดมั่นอยู่ในหลักธรรมของศาสนา ยิ่งมุสลิมประเภทที่มีความยำเกรงต่ออัลเลาะห์ ซ.บ. ดำเนินชีวิตตามบัญญัติของศาสนา มุสลิมประเภทนี้ องค์อัลเลาะห์ ซ.บ. ตรัสว่าคือผู้ที่มีเกียรติ ณ พระองค์

ในอัลกุรอาน ซูเราะห์ อันนะฮฺลิ อายะห์ที่ 128 องค์พระผู้อภิบาลทรงตรัสว่า ซึ่งมีใจความว่า

“แท้จริง อัลเลาะห์นั้นทรงให้ความช่วยเหลือ และให้ความปราณีอยู่กับฝ่ายบรรดาชนผู้ที่มีความเกรงกลัวต่อการลงโทษจากพระองค์ และอยู่กับฝ่ายบรรดาชนผู้ที่มีการประพฤติในคุณธรรมความดีงามทั้งหลาย”

เมื่อเรามีความยำเกรงต่อพระองค์ดำเนินชีวิตตามพระบัญชาใช้ ออกห่างจากเรื่องที่ห้าม และมีใจอดทนเพื่อยึดมั่นให้ตัวเองอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงอย่างนี้ ถึงแม้เราจะต่ำต้อยยากจน เราก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพราะองค์อัลเลาะห์ ซ.บ. คอยให้ความช่วยเหลือ คอยให้ความปราณีอยู่กับฝ่ายเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเป็นมุสลิมประเภทที่ทำละหมาดฟัรดูห้าเวลาในแต่ละวัน ไม่ใช่ทำละหมาดตามอารมณ์ชอบ พวกที่ทำละหมาดตามอารมณ์ชอบ ศาสนาใช้ให้ทำละหมาดวันละห้าเวลา แต่เขาถือว่าเขารวยแล้ว เขามีเกียรติแล้วเขาไม่ต้องอาศัยใครแล้ว เขาจะละหมาดอาทิตย์ละห้าเวลา หรือวันละสองเวลาก็สุดแล้วแต่เขา ส่วนเราเองจะดำเนินชีวิตตามพระบัญชา เรามีเกียรติเหนือกว่าเขา เรื่องนี้เป็นเรื่องแน่นอน เกียรติของมนุษย์อยู่ที่ความศรัทธา อยู่ที่ความยำเกรง ไม่ใช่อยู่ที่เงิน ไม่ใช่อยู่ที่ความร่ำรวย ไม่ได้อยู่ที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง เพราะบรรดาสิ่งเหล่านี้ องค์อัลเลาะห์ ซ.บ. ไม่ได้เอาไปขึ้นตาชั่งในวันกิยามะห์

ในซูเราะห์ อิบรอฮีม อายะห์ที่ 31 องค์อัลเลาะห์ ซ.บ. ทรงตรัสเตือนเราว่า ซึ่งมีใจความว่า

“โอ้มุฮำมัด เจ้าจงบอกแก่บรรดาบ่าวของข้า ผู้ซึ่งเขามีศรัทธาเถิดว่า พวกนั้นจะต้องดำรงละหมาดห้าเวลาให้ครบตามหลักเกณฑ์ และองค์ประกอบของมัน และจะต้องบริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทานจากส่วนที่เราได้อำนวยให้พวกนั้นไว้ จะโดยปกปิดหรือโดยเปิดเผยก็ได้ ทั้งนี้ก่อนที่จะถึงวันอาคิเราะห์ การไถ่ถอนตัวให้พ้นจากขุมนรก และความเป็นมิตรหาไม่ได้อีกแล้ว”

เมื่อเป็นพระบัญชาแก่เรามวลมุสลิมทั้งหลายอย่างนี้ เราแต่ละคนก็จะต้องหาทางศึกษาให้รู้รายละเอียดของการทำละหมาดให้ถูกต้องครบตามหลักเกณฑ์ แล้วทำละหมาดให้ครบวันละห้าเวลา เพื่อไถ่ตัวของเราเองเสีย ในวันนี้ให้พ้นจากความย่อยยับในโลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ของเราจะต้องหาทางให้เขาได้ศึกษาหาวิชาความรู้ในวิชาบังคับด้านฟัรดูอีน ให้เขามีศรัทธา มีความเลื่อมใสในการทำความดี และทำความดีในแต่ละเรื่องได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของศาสนาด้วย เพื่อความร่มเย็นแก่ชีวิตของเขาเองในวันหน้า

ท่านอิบนิ อุมัร รฏิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงบอกกล่าวว่า ซึ่งมีใจความว่า

“ไม่มีศรัทธาอีหม่านอันสมบูรณ์ สำหรับผู้ที่ไร้ความซื่อสัตย์, ไม่มีการละหมาดสำหรับบุคคลที่ยังไม่มีน้ำละหมาด, ไม่มีศาสนาในตัวของบุคคลที่ไม่ทำละหมาด, เปรียบเทียบตำแหน่งของการละหมาดจากบัญญัติของศาสนา เปรียบเสมือนตำแหน่งของศีรษะของร่างกาย”
จาก อัฏฏอบรอนีย์

จากฮะดิษนี้เราจะเห็นว่า ใครที่ยังไม่สามารถดำรงการทำละหมาดห้าเวลาในแต่ละวันเอาไว้ให้เป็นปกติได้นั้น ก็แทบจะเหมือนกับว่าในตัวของเขานั้นไม่มีศาสนา ใครที่ไม่ทำละหมาด ใครที่ยังไม่เอาใจใส่ต่อการทำละหมาดฟัรดูห้าเวลา คนนั้นก็เปรียบเหมือนมนุษย์ที่หัวขาดหรือไม่มีหัว ไร้ราคา เป็นเพียงมุสลิมจำลองเป็นมุสลิมเทียมเหมือนไม่มีศาสนา เรื่องนี้เราจะต้องหาทางแก้ไขหากใครในครอบครัวของเราเป็นมนุษย์หัวขาดที่ยังลอยชายนั่ง นอน เดิน กิน อยู่ในบ้านของเรา กินใช้จากริสกีของอัลเลาะห์ ซ.บ. แต่ไปตามคำใช้คำสอนของไซตอนมารร้าย เรื่องนี้ต้องหาทางแก้ก่อนที่จะสายเกินแก้

ท่านร่อซูลุลเลาะห์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บอกลักษณะของมุสลิมที่ประเสริฐเอาไว้ว่า ซึ่งมีใจความว่า

“แท้จริงมวลบ่าวของอัลเลาะห์ที่ได้รับการเลือกเฟ้นว่าประเสริฐที่สุด ก็คือ บรรดาผู้ที่คอยสังเกตดวงตะวัน ดวงเดือน ดวงดาว และเงาแดดเพื่อการทำละหมาดรำลึกถึงอัลเลาะห์”
จาก อัฏฏอบรอนีย์

เมื่อคนประเสริฐเขามีคุณลักษณะอย่างนี้เราก็ลองเอามาทำดูบ้าง หมั่นสังเกตเวลา คอยดูนาฬิกา คอยรอเวลาละหมาด ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ พัฒนาไปในไม่ช้าเราก็จะเป็นคนที่ประเสริฐ รอเวลาคอยเวลาละหมาดกับเขาได้คนหนึ่ง ไม่ใช่นาน ๆ ทีละหมาดสักหน

ฮัจยี ยะฮฺกู๊บ ท้วมประถม

 
     
ติดต่อ webmaster : dee_krabz@hotmail.com          © Khundee Lamsub (ขุนดี หลำสุบ)
ม.4/3
ม.4/2
ม.4/1
ม.3/4
ม.3/3
ม.3/2
ม.3/1
ม.2/4
ม.2/3
ม.2/2
ม.2/1
ม.1/4
ม.1/3
ม.1/2
ม.1/1